สิ่งสำคัญที่ต้องทราบและทำความเข้าใจ เมื่อตัดสินใจทำ “ประกันบ้าน”
การทำประกันบ้าน ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งในปัจจุบันนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว “ประกันบ้าน” มักจะอยู่ในเงื่อนไขการกู้ซื้อบ้านจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามก่อนจะเลือกทำประกันไม่ว่าแบบไหนก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ โดยปกติแล้วประกันบ้านที่อยู่ในเงื่อนไขของสินเชื่อสำหรับซื้อบ้านจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1)ประกันอัคคีภัย (ไฟไหม้)
คือประกันที่คุ้มครองบ้านจากการเกิดอัคคีภัยเฉพาะตัวบ้านไม่รวมที่ดิน เมื่อมีเหตุอัคคีภัยเกิดขึ้น ถ้าเป็นบ้านที่ไม่มีภาระหนี้สินใดๆ ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะเป็นของเจ้าของบ้านโดยตรงทั้งหมด แต่ในกรณีที่เป็นบ้านติดจำนองอยู่กับธนาคารผู้รับผลประโยชน์จะเป็นธนาคารนั่นๆ โดยหักส่วนต่างจากมูลค่าหนี้ที่เหลือ แล้วเจ้าของบ้านจะมีหนี้น้อยลงหรือหมดไปก็แล้วแต่กรณี ประกันอัคคีภัยจะครอบคลุมความเสียหายของบ้านจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า และ แก๊สจากการทำแสงสว่างหรือใช้ประโยชน์ในบ้าน แต่ไม่รวมการระเบิดเนื่องจากแผ่นดินไหว
ประกันอัคคีภัย เป็นประกันภัยที่ทำในระยะเวลาสั้น ๆ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำเป็นประจำ เช่น ทุกปี ยิ่งเลือกระยะเวลาในการประกันยาวนานมากแค่ไหน ค่าเบี้ยประกันก็จะยิ่งถูกลง เบี้ยประกันของประกันอัคคีภัยไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันและลักษณะอาคาร แต่ส่วนใหญ่สำหรับบ้านเดี่ยวจะไม่เกิน 0.1% เป็นประกันภัยซึ่งกฎหมายบังคับให้บ้านใหม่ทุกหลังต้องทำ
2)ประกันภัยพิบัติ (ภัยธรรมชาติ)
เป็นประกันอีกประเภทที่คุ้มครองบ้านจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือดินถล่ม โดยต้องเป็นภัยธรรมชาติที่เข้าเงื่อนไขเข้าข่ายเป็นภัยพิบัติ คือ มีการประกาศเป็นภัยพิบัติรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาทิ แผ่นดินไหว ความรุนแรงตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป , พายุ ความเร็วลมตั้งแต่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
อย่างไรก็ตามประกันภัยพิบัติก็มีข้อยกเว้นคือจะไม่ครอบคลุมบ้านในพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำ หรือทางน้ำผ่าน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากภาครัฐอยู่แล้ว ประกันภัยพิบัติสำหรับบ้านอยู่อาศัย จะต้องเสียเบี้ยประกัน 0.5% ของราคาบ้านต่อปี เป็นประกันที่รัฐบาลไม่ได้บังคับ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าของบ้าน
3)ประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ TMRA
คือประกันชีวิตที่ทำขึ้นเพื่อคุ้มครองบ้านหรือที่ดินสำหรับผู้ขอสินเชื่อในการซื้อบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านที่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาซื้อบ้านแล้วเกิดเสียชีวิตหรือสูญเสียความสามารถในการใช้หนี้ไปก่อนครบสัญญา ทางบริษัทประกันก็จะชดใช้หนี้สินในส่วนที่เหลือให้กับธนาคารแทน ถือเป็นการประกันอนาคตของครอบครัวผู้ขอสินเชื่อ และประกันความเสี่ยงให้กับทางธนาคารไปในเวลาเดียวกัน
โดยมูลค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับราคาประเมินของหลักประกันหรือสินทรัพย์ซึ่งแต่ละบริษัทประกันภัยจะกำหนดไว้ไม่เท่ากัน แต่ส่วนมากไม่เกิน 5.5% เป็นประกันระยะยาวที่จ่ายเป็นรายครั้ง อาจจะเพียง 3 ปี หรือตลอดอายุการกู้ยืมก็ได้และ มูลค่าของจำนวนเงินเอาประกันก็จะลดลงเรื่อย ๆ ตามยอดหนี้ซึ่งลดลงทุกปี ประกันชนิดนี้เป็นประกันที่รัฐบาลไม่ได้บังคับให้ทำ ดังนั้นจะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เอาสินเชื่อเอง
ประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ TMRA ได้ชื่อว่าเป็นประกันที่เป็นปัญหาที่สุดสำหรับผู้ขอสินเชื่อในปัจจุบัน เนื่องจากมีตัวเลขของเบี้ยประกันที่ค่อนข้างสูง และต้องจ่ายเป็นก้อนในตอนทำสัญญากู้ยืม และอาจมีบางธนาคารใช้คำพูดในเชิงบังคับว่าต้องทำ เพราะทางธนาคารเองก็จะได้รับผลประโยชน์จากประกันประเภทด้านการประกันความเสี่ยงต่อหนี้เสีย โดยอาจมีการยื่นข้อเสนอลดดอกเบี้ยให้ หรือสามารถผ่อนชำระเบี้ยประกันได้โดยเปิดเป็นยอดกู้อีกยอดหนึ่ง และมีการสื่อสารให้เจ้าของบ้านเข้าใจว่าประกันประเภทนี้เป็นประกันที่กฎหมายบังคับให้ทำ แต่ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำ ดังนั้นผู้กู้สามารถปฏิเสธการทำประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ TMRA ได้ โดยไม่ต้องกังวลใดๆ
แต่ในขณะเดียวกัน การที่กฎหมายไม่ได้บังคับในส่วนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้ามประกันประเภทนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อยและเป็นเรี่ยวแรงหลักของครอบครัว เพราะจากรายละเอียดข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป็นประกันที่มีส่วนช่วยใช้หนี้ให้ทั้งหมดในกรณีที่ผู้กู้หลักเสียชีวิตหรือพิการซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ภาระในการผ่อนบ้านก็จะไม่ตกไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งก็ต้องดูเงื่อนไขอื่นๆประกอบด้วยว่าครอบคลุมหนี้ทั้งหมดหรือไม่ อย่างไรก็แล้วแต่หากเจ้าของบ้านมีความสามารถการจ่ายหนี้สูง ประกันประเภทนี้ก็ไม่มีความจำเป็น
การทำประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ TMRA ไม่จำเป็นต้องทำกับสถาบันการเงินที่ยื่นขอสินเชื่อเท่านั้น หากพบบริษัทประกันชีวิตหรือประกันภัยที่มีเงื่อนไขดีกว่า ก็สามารถทำกับที่นั่นได้ โดยธนาคารไม่มีสิทธิ์มาบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น
สิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านหรือผู้สนใจทำประกันบ้านควรทราบคือ ในบรรดาประกันเกี่ยวกับบ้านทั้ง 3 ประเภทข้างต้น มีเพียงประกันอัคคีภัย ที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีเบี้ยประกันเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น เพราะฉะนั้นทางธนาคารไม่มีสิทธิ์บังคับให้ผู้กู้สินเชื่อบ้านต้องซื้อประกันอื่น ๆ เพิ่มเติม